คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า ป.ป.ช. ใช้เวลาเพียง 21 วันเท่านั้น ในการไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหายิ่งลักษณ์
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าหนังสือที่ ป.ป.ช. อ้างว่าเคยเตือนรัฐบาลแล้ว
แต่รัฐบาลไม่ฟังนั้น ถูกส่งมาในวันเดียวกับวันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเป็นวันแรก
แถมรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบริการประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และพันธสัญญาที่มีต่อประชาชน ไม่ใช่มาฟัง ป.ป.ช. แนะนำหรือเตือน แล้วเอกสารงานวิจัยที่ ป.ป.ช. ใช้อ้างเตือน ก็มาจากนักวิชาการที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทย
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า ป.ป.ช. ตัดพยานของยิ่งลักษณ์ไปหลายปาก แต่ในสำนวนที่ศาลต้องใช้พิจารณาเป็นหลักก็มาจากสำนวนของ ป.ป.ช.
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า ป.ป.ช. ได้เพิ่มเอกสารไปกว่า 60,000 แผ่น ที่ไม่ได้อยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช. ในตอนแรก (ยุติธรรมสุดๆ)
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าคดีนี้ อัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งให้แก้ไขสำนวนคดีใหม่ เพราะ สำนวนคดีนี้บกพร่อง และมีความผิดปกติที่รองอัยการสูงสุดในฐานะหัวหน้าคณะแก้ไขสำนวนร่วมฯ บอกว่าคณะกรรมการยังไม่มีข้อสรุป แต่ในวันเดียวกันอัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งสรุปให้สำนวนคดีนี้สมบูรณ์พร้อมส่งฟ้องศาลฎีกานักการเมือง
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า Public Policy ไม่เคยมีใครคิดผลกำไร ขาดทุน ไม่มีการพูดว่าเจ๊งหรือไม่เจ๊ง วัตถุประสงค์ คือ การมุ่งช่วยเหลือประชาชน (ซึ่งอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จำนวนมาก ที่มีแนวคิดสายเสรีนิยมใหม่ พยายามโจมตีโครงการสวัสดิการสังคมเหล่านี้มาโดยตลอด แต่เริ่มเงียบและเพิกเฉยต่อนโยบายสวัสดิการสังคมแบบครึ่งๆ กลางๆ ของรัฐบาลทหาร) ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าว แต่การตัดสินใจจะกระจายทรัพยากรและความช่วยเหลือไปยังคนกลุ่มใดในสังคมด้วยนโยบายสาธารณะรูปแบบใด มันต้องเป็นอิสระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าหากนโยบายหรือกระบวนการตัดสินใจในการกระจายความช่วยเหลือเหล่านั้นของรัฐบาลผิดพลาด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของรัฐบาลชุดนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเอง และที่ผ่านมาไม่เคยมีนายกคนไหนต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของนโยบายสาธารณะเช่นนี้ (ไม่ได้แปลว่าโกงแล้วไม่ผิด ถ้าโกงก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย แต่คดียิ่งลักษณ์ ไม่ใช่คดีที่ฟ้องว่าเธอโกง)
หากนโยบายสวัสดิการสังคมของพรรค Labour ล้มเหลว คนก็หันไปเลือกพรรค Conservatives หากนโยบายตัดลดงบประมาณของพรรค Conservatives ล้มเหลว คนก็หันไปเลือกพรรค Labour นี่คือสิ่งที่ตะวันตกเขาทำกัน
คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่ามาตรา 212 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุให้ศาลแห่งคดีส่งประเด็นโต้แย้งข้อกฎหมาย (ในเคสนี้ คือ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ใช้ในคดีนี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่) ในกรณีที่ ศาล รธน. ไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ไปยังศาล รธน. ให้วินิจฉัย ไม่ใช่ให้ศาลฎีกานักการเมืองซึ่งเป็นศาลแห่งคดีมาวินิจฉัยเอาเองว่าจะส่งหรือไม่ส่งให้ตีความ ซึ่งกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย จากเดิมที่บังคับให้ศาลแห่งคดีต้องส่ง กลายเป็นว่าศาลแห่งคดีมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเห็นควรให้ส่งหรือไม่ ตามที่ อ.ปิยะบุตร ได้อธิบายไว้
คดีนี้เป็นมหากาพย์ในการใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์เล่นงานระบอบทักษิณ
ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท โดยมุ่งหวังที่จะขจัดระบอบทักษิณที่มีบทบาทในการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ให้หมดไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อ่อนแอลง ด้วยการเล่นงาน Keyman คนสำคัญ อย่างทักษิณ ยิ่งลักษณ์ สมชาย (ทั้งหมดเป็นอดีตนายกปีกเพื่อไทยทั้งหมดตั้งแต่หลังยุค พ.ศ.2544 มีคนเดียวที่รอด คือ สมัคร เพราะ ตายไปแล้ว)
นับจากนี้ไป เป็นการวัดใจกันล้วนๆ ระหว่างยิ่งลักษณ์กับรัฐบาลทหาร ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่หนีแล้วไปปรากฏตัวในวันอ่านคำพิพากษา แปลว่าวิธีการที่รัฐบาลทหารใช้ในการบีบให้ยิ่งลักษณ์หนีมาตลอดก็เสียเปล่า
ไม่ว่าคดีนี้จะมีจุดจบอย่างไร ผลเสียก็คือกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในประเทศไทยเอง คนดำเนินนโยบายจะไม่กล้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะ มีให้เห็นอยู่ทนโท่ ดำเนินนโยบายสาธารณะ ป้องกันการทุจริตแล้ว พอมีการโกงในระดับปฏิบัติ แต่ฟ้องระดับบริหารนโยบายซะงั้น (แถมฟ้องคนเดียวด้วยนะคดียิ่งลักษณ์ ทั้งๆ ที่ฝ่ายบริหารนโยบายข้าวมีหลายคน หลายคณะทำงานมาก) สู้ชนะเลือกตั้ง ไม่ต้องแถลงนโยบายอะไรมาก อยู่ไปวันๆ ออกกำลังกายเพื่อชาติดีกว่าเยอะ
Cr ใครสักคน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น