จากคำถามที่ว่า พระพุทธรูปวัดพระธรรมกายมิได้สอดคล้องกับพุทธศิลป์ใดเลย แต่สร้างขึ้นมาตามจินตนาการของท่านเจ้าอาวาสใช่หรือไม่?
วันนี้เรามีคำตอบ
พระพุทธรูปวัดพระธรรมกายมีความสอดคล้องกับศิลปะคันธาระ
(Gandhara) ศิลปะอมราวตี (Amaravati) และศิลปะสมัยนาคารชุนโกณฑะ (Nagarjunakonda)
เมื่อพิจารณาพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดย
วัดพระธรรมกายทั้งในส่วนของงานประติมากรรม และภาพนิ่งนั้นจะเห็นว่าล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็นสองหมวดหมู่
คือ พระพุทธรูปที่มีขมวดพระเกศา
และเกตุดอกบัวตูมกับพระพุทธรูปที่มีขมวดพระเกศาแต่ไม่มีเกตุดอกบัวตูม
จากการให้สัมภาษณ์ของพระครูสังฆรักษ์รังสฤษฏ์ อิทฺธิจินฺตโก
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ประธานโครงสร้างพระธรรมกาย 1,000,000 องค์ เพื่อประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์
ทำให้ทราบว่าโดยหลักทางประติมานวิทยาแล้ว
พระพุทธรูปที่มีขมวดเกศาและเกตุดอกบัวตูมนั้นสื่อถึง “องค์พระธรรมกาย” ที่เข้าถึงได้จากประสบการณ์ภายในของการปฏิบัติสมาธิ เรียกพระพุทธรูปประเภทนี้ว่า “พระธรรมกาย”
ส่วนพระพุทธรูปมีขมวดพระเกศา แต่ไม่ปรากฏเกตุดอกบัวตูมนั้น
สื่อถึงพระพุทธเจ้าในรูปของกายมนุษย์ที่ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 เรียกพระพุทธรูปดังกล่าวนี้ว่า “พระพุทธเจ้า”
ลักษณะที่โดดเด่นและเหมือนกันของพระพุทธรูปทั้งสองแบบ
คือ พระเกศาขมวดวนไปทางขวาคล้ายรูปก้นหอย
รูปร่างกลมกลึง แขนขาเรียวยาว
นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับซ้าย (Halflotus position) มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นุ่งห่มจีวรบางแนบร่างเพื่อเน้นสรีระของมหาบุรุษ ให้เห็นเด่นชัด
เมื่อเปรียบเทียบพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายกับรูปเคารพของพระพุทธเจ้า
ในพุทธศาสนายุคต้นอย่างศิลปะคันธาระ
ก็พบว่าลักษณะการวางมือ ความกลมกลึงและเต็มตึงของร่างกายของพระพุทธรูปของพระธรรมกายไปสอดคล้องต้องกันกับการวางมือ ของพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะคันธาระองค์หนึ่งที่ที่ราบเปชวาร์ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมภาคตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถาน และพื้นที่บางส่วนในกัศมีร์ (Kashmir) ในอดีตเมื่อราวพุทธศักราชที่ 200-300 ดินแดนแห่งนี้คือสถานที่หนึ่งในการปักหลักของพระพุทธศาสนาดั้งเดิมหรือหินยานมาก่อน
พระพุทธรูปดังกล่าวมิได้เป็นผลงานศิลปะตามอย่างอิทธิพลของกรีกล้วนๆแต่มีส่วนผสมผสานของลักษณะท้องถิ่นนั่นคือ
แม้พระพุทธรูปจะมีจมูกโด่งเป็นสัน แต่ส่วนคางนั้นกลับกลมป้อมเหมือนลักษณะใบหน้าของชายชาวอินเดียส่วนใหญ่ มวยผมและเส้นผมมิได้เป็นคลื่นหยักศกหมือนศิลปะกรีกแต่มีลักษณะม้วนขดเป็นกลุ่มก้อนคล้ายก้นหอยมากขึ้น พระพุทธรูปดังกล่าวประทับนั่งอยู่บนแท่นพระอาสน์ในท่านั่งสมาธิ
แม้พระพุทธรูปคันธาระปางสมาธิลักษณะนี้จะมีให้เห็นไม่มากนัก
ส่วนหนึ่งอาจเพราะถูกทำลายไปจากภัยธรรมชาติหรือจากกาลเวลา และถูกทำลายไปจากภัยต่างศาสนา แต่พยานทางวัตถุที่มีปรากฏให้เห็นแม้เพียงหนึ่งเดียวในขณะนี้ก็ทำให้ทราบได้ว่าลักษณะของพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายที่มีความสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางสมาธิของศิลปะคันธาระโดยเฉพาะรูปแบบของการวางมือ เส้นผมที่ขมวดไปทางขวาเป็นขดหอย และความเต็มตึงหรือกลมกลึงของกายมหาบุรุษ
ก็เป็นข้อยืนยันว่าวัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูปตามแบบของวัดพระธรรมกายนั้น มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของงานพุทธศิลป์ทางพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของกายมหาบุรุษที่วัดพระธรรมกายพยายามถ่ายทอดออกมา
ผ่านทางรูปประติมากรรมของพระธรรมกายหรือของพระพุทธเจ้านั้น ก็ยังไปสอดคล้องกับลักษณะของกายมหาบุรษที่ถ่ายทอดออกมาสู่รูปเคารพของพระพุทธเจ้าในศิลปะสมัยอมราวตี
และนาคารชุนโกณฑะ ราวพุทธศักราชที่ 700-800 และ700-900 ตามลำดับ
โดยพระพุทธรูปยุคต้นของทั้งสองเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกันในแถบอินเดียใต้จะมีร่างกายที่กลมกลึง สูงใหญ่ แขนขายาวแตกต่างจากพระพุทธรูปของประเทศไทยที่มุ่งเน้นความสวยงามอ่อนช้อยของพุทธศิลป์ทำให้พระพุทธรูปมีรูปลักษณะไหล่กว้าง เอวคอด หรือบอบบางอ้อนแอ้นเป็นต้น
ข้อสังเกตอีกอย่างที่แม้พระพุทธรูปของวัดพระธรรมกายจะมีทั้งแบบที่ลืมตาเต็มดวง และหลับตาครึ่งค่อนดวง แต่หลักสูตรในการสอนสมาธิปฏิบัติของพระเทพญาณมหามุนี ตามแบบวิชชาธรรมกาย
จะบอกวิธีในการปฏิบัติสมาธิแก่ผู้ฝึกปฏิบัติเสมอถึงวิธีการหลับตาเพียงค่อนดวง
ซึ่งสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะคันธาระดังกล่าวรวมถึงการวางมือวางเท้า
และวางใจเพื่อการปฏิบัติสมาธิที่ให้ผลดีและนั่งได้นานๆว่า
“ให้หลับตาเหมือนเราปรือๆตานิดหน่อย หลับตาสักค่อนลูกในระดับที่เรารู้สึกสบาย
และก็ผ่อนคลายไปทั้งเนื้อทั้งตัว ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย”
สิ่งสอดคล้องดังกล่าวทั้งในส่วนเนื้อหาคำสอน
ของสมาธิปฏิบัติของวัดพระธรรมกายและงานพุทธศิลป์คันธาระข้างต้น
จึงเป็นข้อยืนยันที่ดีเยี่ยมว่าแบบแผนประเพณี หรือรูปแบบการปฏิบัติของกลุ่มชาวพุทธนั้นๆมักได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่งานพุทธศิลป์อีกทางหนึ่งเพื่อแสดงถึงความรู้
หรือวิธีการปฏิบัติของพวกเขาต่อชนรุ่นหลัง และจากความคล้ายคลึงกันของพระพุทธรูปปางสมาธิ
ของทั้งสองยุคสมัยข้างต้น ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าแบบแผนในการปฏิบัติสมาธิของทั้งสองยุคสมัยนั้น
อาจมีความคล้ายคลึงกันด้วย
แหล่งที่มา: สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย.ถาม-ตอบข้อสงสัยเรื่องธรรมกาย 1.2558
รูปภาพ : himalayanbuddhistart.wordpress.com