ใครปลอมพระลิขิตสมเด็จพระสังฆรา 
 คณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยมี 2 นิกาย คือ
1. มหานิกาย
2. ธรรมยุติกนิกาย
พระสงฆ์ที่อยู่กันคนละนิกายนี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าเป็น “ นานาสังวาส ” คือ ให้ต่างคนต่างอยู่ ไม่ร่วมสังฆกรรมกัน ห้ามก้าวก่ายกัน เพื่อจะได้ไม่ทะเลาะกัน

 
ซึ่งในการปกครองคณะสงฆ์ไทย พระเถระของทั้งฝ่ายมหานิกายและ
รรมยุติกนิกายได้ประชุมกันที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ทำข้อตกลงในการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้
1. การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง คงบริหารร่วมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย
2. การปกครองส่วนภูมิภาค ให้แยกตามนิกาย
ข้อตกลงนี้เรียกกันว่า “ ข้อตกลงตำหนักเพชร 2494 ” และรัฐบาลได้รับรองข้อตกลงนี้อย่างเป็นทางการด้วย
      เพราะข้อตกลงตำหนักเพชร 2494 นี้เอง ทำให้มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ตำแหน่งละ 2 รูป เป็นของมหานิกายและธรรมยุติแยกขาดจากกัน

พระสงฆ์อยู่คนละนิกาย จะทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ เช่น พิธีบวชพระธรรมยุติ จะให้พระมหานิกายเข้าไปนั่งในโบสถ์ด้วยไม่ได้ ลงปาฏิโมกข์ร่วมกันไม่ได้

    เมื่อมีการกล่าวหาพระภิกษุว่าต้องอาบัติ การชำระอธิกรณ์ของสงฆ์ในเรื่องนี้เป็นสังฆกรรม เรียกว่า “ นิคหกรรม ” จึงเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ของแต่ละนิกายต้องดำเนินการเอง จะไปก้าวก่ายเรื่องของสงฆ์ในนิกายอื่นไม่ได้
       เพราะเหตุนี้ เวลามีเรื่องอธิกรณ์ของพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติ เช่น กรณีพระยันตระ เมื่อเรื่องเข้ามาสู่มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมฝ่ายมหานิกายจะนิ่งหมดไม่พูด  ให้กรรมการมหาเถรสมาคมฝ่ายธรรมยุติดำเนินการไป ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และเป็นไปตามข้อตกลงตำหนักเพชร 2494

สมเด็จพระญาณสังวร ฯ สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติ


ส่วนหลวงพ่อธัมมชโย  (ธัมมชโย ภิกขุ) เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย
 
     จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สมเด็จพระญาณสังวร ฯ ซึ่งทรงเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค แตกฉานในพระธรรมวินัย จะกระทำการละเมิดพระธรรมวินัยเสียเอง โดยไปก้าวก่ายเรื่องนิคหกรรมของภิกษุในนิกายอื่นซึ่งเป็นนานาสังวาส แม้ พรบ.สงฆ์จะกำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจตราพระบัญชาปกครองคณะสงฆ์ แต่ก็กำกับไว้ด้วยว่า จะต้อง “ โดยชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ” ดังนั้นสมเด็จพระสังฆราชจะทรงกระทำการใดที่ละเมิดพระธรรมวินัยไม่ได้

  นอกจากนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุรูปอื่นโดยพลการ สมเด็จพระญาณสังวรฯ จะฝ่าฝืนพระวินัยของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

      เมื่อมีพระภิกษุถูกโจทก์ว่าต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง พรบ.สงฆ์ได้ให้อำนาจมหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างละเอียดชัดเจน ตามหลักพระธรรมวินัย โดยต้องตัดสินด้วยองค์คณะไม่ใช่ด้วยภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็นศาลสงฆ์ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา

     มหาเถรสมาคม คือ ศาลสงฆ์ชั้นฎีกา สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการมหาเถรสมาคม จึงเป็นประธานศาลสงฆ์ชั้นฎีกา เปรียบทางโลกหากศาลชั้นต้นยังไม่ได้พิจารณาคดี อยู่ๆ ประธานศาลฎีกาจะออกมาประกาศพิพากษาโดยพลการว่าผู้ต้องหากระทำความผิดไม่ได้ ประธานศาลฎีกาคนไหนไปทำเข้า ก็เท่ากับตนไปทำผิดกฎหมายเสียเอ

   ผู้ที่ยืนยันว่าพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช กรณีปาราชิกดังกล่าวเป็นของจริง จึงเท่ากับ กำลังประจานว่าพระองค์กำลังกระทำการละเมิดพระธรรมวินัย ละเมิดกฎหมาย และละเมิดกฎมหาเถรสมาคม

    เพื่อรักษาพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราช มีความเป็นไปได้สูงว่า พระลิขิตดังกล่าวเป็นของปลอม ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
    1. มีการปลอมพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเกิดขึ้นจริง ดังปรากฏหลักฐานตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 23/2547 ซึ่งได้สรุปเรื่องที่เป็นเหตุให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ว่าเป็นเพราะมีการปลอมพระลิขิตหลายกรรมหลายวาระ อาทิ

       - ปลอมพระลิขิตปลดนายบัณฑูร ล่ำซำ ผู้จัดการและประธานมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จากตำแหน่ง และเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทบพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราช จึงมีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้สืบสวนในทางลับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนในที่สุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 กองพิสูจน์หลักฐานได้ออกรายงานที่ 1001/2545 ลงความเห็นว่า ลายเซ็นของสมเด็จพระสังฆราช ในเอกสารทั้ง 6 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม มีการดำเนินคดีกับ นายเรวัตร อุปพงศ์ นายสิทธิโชค ศรีสุคนธ์ และพระราชรัตนมงคล ผู้รับใช้ใกล้ชิดในวัดบวรนิเวศ ในข้อหา “ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม”

     - ในเดือนธันวาคม 2546 ได้มีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเสนอแต่งตั้งระราชรัตนมงคล(ผู้ต้องหาในคดีปลอมลายเซ็นของสมเด็จพระสังฆราช) เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่สุดท้ายพระเทพสารเวที เลขานุการของสมเด็จพระสังฆราช ได้ขอพระลิขิตดังกล่าวกลับคืนไป ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และเสื่อมเสียพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราช และทำให้เกิดความสับสนในหมู่ชาวพุทธเป็นอย่างยิ่ง


    2. พระลิขิตในการกล่าวโทษเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายดังกล่าว( ณ.เวลานั้น) มีข้อผิดสังเกตหลายประการ อาทิ
- ตัวเลขวันที่ ปีพ.ศ.ใช้ตัวเลขอารบิค ซึ่งในการคณะสงฆ์จะทราบดีว่า เป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะเอกสารสำคัญของการคณะสงฆ์จะใช้เฉพาะเลขไทยเท่านั้น แม้นักเรียนบาลีก็ต้องใช้เลขไทยทั้งหมด

- วรรคตอนข้อความขาดเป็นช่วงๆ ผิดหลักภาษาไทย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เอกสารสำคัญของสมเด็จพระสังฆราชจะใช้สำนวนการพิมพ์เช่นนี้

- เมื่อมีการโจษจันกันหนาหูว่า พระลิขิตดังกล่าวเป็นของปลอม ผู้ที่มารับรองสำเนาถูกต้องย้อนหลัง คือ พระราชรัตนมงคล ซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมเอกสารและลายเซ็นสมเด็จพระสังฆราช

   3. เนื้อหาในพระลิขิตละเมิดพระธรรมวินัย ละเมิดกฎหมาย และละเมิดกฎมหาเถรสมาคม ดังกล่าวแล้วข้างต้น

   4. กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปทราบดีถึงพระพลานามัยของสมเด็จพระสังฆราช หลายกรณีจึงเหมือนน้ำท่วมปาก รู้ความจริงแต่พูดไม่ออก เพราะเกรงกระทบพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราช ทำให้ต้องนิ่งเงียบ

  5. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2547 มหาเถรสมาคมจึงได้ประชุมร่วมกันทั้ง 2 นิกายแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

      น่าเห็นใจมหาเถรสมาคมเป็นอย่างยิ่งที่พยายามถนอมพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชอย่างเต็มที่ จึงได้มีมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ความว่า “ สนองพระดำริมาโดยตลอด ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ” เป็นการหาทางออกที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แก้ปัญหาด้วยความนุ่มนวล รักษาพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราช และรักษากฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม จนเรื่องจบไปเป็นสิบปีแล้ว

    แต่กลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี บังอาจหยิบยกเอาพระลิขิตดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราช พระธรรมวินัย และหลักกฎหมาย

    จึงขอให้กลุ่มบุคคลผู้มืดบอดหยุดการกระทำที่เลวร้ายดังกล่าวโดยทันที และขอให้สังคมตื่นรู้ ร่วมกันประณามการกระทำที่เลวร้ายละเมิดกฎหมาย พระธรรมวินัย และ ลบหลู่พระเกียรติยศสมเด็จพระสังฆราช