ตามที่มีนักวิชาการกฎหมาย
กล่าวถึง ป. วิ อาญา มาตรา 39 (2) ที่ว่า
"ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์
ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ต้องระงับการฟ้อง จะนำมาฟ้องหรือตั้งคดีใหม่ไม่ได้"
ชวนให้เกิดความคลางแคลงใจขึ้นว่า
1. ดีเอสไอมีอำนาจในการดำเนินคดี
ที่ไม่มีผู้เสียหายและถอนฟ้องไปแล้วได้จริงหรือไม่
2. การตั้งคดีเพียงเพราะมีผู้กล่าวหาอย่างเลื่อนเลย
โดยไม่มีหลักฐานกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
สามารถดำเนินการสอบสวนได้จริงหรือไม่
3. ขั้นตอนการสืบสวนทั้งหมดที่ผ่านมา
ดีเอสไอทำถูกต้องตามหลักกฎหมายจริงหรือไม่
เพราะตามหลักวิชาการแล้ว
เมื่อมีผู้รู้ทางกฎหมายหลายท่าน
ทั้งที่เป็นอัยการและทนายความ
ออกมาท้วงติงถึงความไม่ถูกต้องเช่นนี้แล้ว
ดีเอสไอควรจะยับยั้งการสอบสวนทั้งหมดไว้ชั่วคราวก่อน
เพื่อกลับมาทบทวนข้อกฎหมายให้ถูกต้อง
ทบทวนขั้นตอนการสืบสวนให้ถูกต้อง
ก่อนที่การสอบสวนคดีอย่างลัดขั้นตอน
จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของระบบกฎหมายไทย
และก่อนที่การตั้งข้อหาฟอกเงินและรับของโจร
โดยอาศัยมูลฐานแค่มีผู้กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย
โดยไม่มีการแสดงหลักฐานกระทำความผิด
จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของระบบกฎหมายไทย
เพราะบรรทัดฐานการสอบสวนที่ดีเอสไอ
กำลังสร้างขึ้นใหม่ในขณะนี้
ได้สร้างความกระทบกระเทือนใจต่อประชาชน
และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของสังคมอย่างรุนแรง
เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป หากมีการกุเรื่องเท็จ
กล่าวหาอย่างเลื่อนลอยในข้อหาฟอกเงินและรับของโจร
โดยไม่มีหลักฐานกระทำความผิด
ประชาชนทั้งประเทศก็สามารถถูกดำเนินคดี
อย่างลัดขั้นตอนได้ทันที
สร้างขึ้นเป็นบรรทัดฐานใหม่ในระบบกฎหมายไทย
จะเห็นได้ว่า บรรทัดฐานใหม่ที่ดีเอสไอสร้างขึ้นนี้
ได้กลายเป็นการสร้างช่องว่างทางกฎหมาย
ให้เกิดการกลั่นแกล้งใส่ร้ายจากผู้ที่ปรปักษ์ต่อกันได้อย่างง่ายๆ
เพียงแค่กุเรื่องเท็จ กล่าวหาอีกฝ่ายอย่างลอยๆ
ก็สามารถยืมมือกฎหมายจับกุมอีกฝ่าย
ไปดำเนินคดีได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแสดงหลักฐาน
และสืบสวนพยานแต่อย่างใดๆ เลย
ลองคิดดูว่าสังคมจะเดือดร้อนวุ่นวาย
จากการกลั่นแกล้งใส่ร้ายมากมายเพียงใด
ยิ่งกว่านั้น บรรทัดฐานใหม่ที่ดีเอสไอสร้างขึ้นนี้
ยังได้ก่อผลกระทบต่อความมั่นคง
ของพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงอีกด้วย
เพราะถ้าหากการรับบริจาคคือการฟอกเงินและรับของโจร
วัด 33,902 แห่ง พระสงฆ์ 300,000 รูป ก็จะมีโอกาส
ตกเป็นผู้ต้องหาฟอกเงินและรับของโจรได้อย่างง่ายๆ
เพียงแค่มีผู้กุเรื่องใส่ร้ายโดยไม่มีหลักฐาน
เพียงแค่รับบริจาคโดยไม่ทราบที่มาของเงิน
ก็สามารถถูกจับสึกอย่างลัดขั้นตอนการไต่สวน
ถูกจับติดคุกติดตารางด้วยคำกล่าวหาลอยๆ ได้ในทันที
บรรทัดฐานที่ดีเอสไอกำลังสร้างขึ้นใหม่นี้
จึงมิใช่แค่ก่อผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ของประชาชนทั่วไปในวงกว้างเท่านั้น
แต่กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นที่ทำให้
พระพุทธศาสนาถึงกาลล่มสลายจากประเทศไทยได้เลยทีเดียว
ดังนั้น ก่อนที่จะมีความผิดพลาดเสียหาย
ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและความมั่นคง
ของพระพุทธศาสนามากไปกว่านี้ ทางออกที่ดีในขณะนี้ก็คือ
1. ดีเอสไอควรยับยั้งการดำเนินคดีไว้เป็นการชั่วคราว
แล้วกลับมาทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานใหม่
เพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดบรรทัดฐานใหม่
ในการบังคับใช้กฎหมาย
ที่ก่อให้เกิดความอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
และสั่นคลอนความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
2. นักวิชาการกฎหมาย ผู้รู้ด้านกฎหมาย
ควรเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ก่อนที่จะมีความตื่นตระหนกตกใจไปมากกว่านี้
จนถึงขั้นเกิดความวุ่นวายในประเทศไทย
โดยออกมาให้ความรู้แก่ประชาชนและพระสงฆ์
ในประเด็นที่กำลังตื่นตระหนกและวิตกกังวล
เป็นอย่างมากในเวลานี้ก็คือ
1) การรับบริจาคเข้าข่ายการฟอกเงินและรับของโจรหรือไม่
2) การตั้งข้อหาดำเนินคดี โดยอาศัยมูลฐานเพียงแค่
มีผู้กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐานกระทำความผิด
เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจกระทำการได้หรือไม่
3) คดีที่มีการถอนฟ้องไปแล้ว ไม่มีผู้เสียหายแล้ว
เจ้าหน้าที่รัฐยังมีอำนาจในการดำเนินคดีนั้นอยู่หรือไม่
4) การออกหมายจับ โดยไม่แสดงหลักฐานกระทำความผิด
ที่สอดคล้องกับข้อหา เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำได้หรือไม่
หากประชาชนและพระสงฆ์ทั้งประเทศได้รับความกระจ่าง
จากนักวิชาการกฎหมายในเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็จะมั่นใจได้ว่า
กฎหมายยังให้การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ความตื่นตระหนกของประชาชน ของชาวพุทธ
และของพระสงฆ์ทั้งประเทศ ก็จะได้หายคลางแคลงใจ
ในการดำเนินคดีข้อหาฟอกเงินและรับของโจร
ที่ปฏิบัติกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายอย่างขัดแย้งกับ
ป.วิ อาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐาน
ให้พระสงฆ์ทั้งประเทศตกเป็นผู้ต้องหาฟอกเงินและรับของโจร
จากการรับบริจาคอยู่ในขณะนี้
--------------------------------------------------------------------
๗ มิถุนายน ๒๕๕๙
๑๓.๔๙ น.
ปล. ความคิดเห็นส่วนตัว
Cr.หลวงพี่ตรีเทพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น