มีพิรุธหลายประการในการขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 1,822 ไร่ ให้กับบริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด วงเงินกว่า 477 ล้านบาท ที่คณะกรรมการประสานเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่มีตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการที่อาจขัดต่อระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการขายทรัพย์สินทอดตลาดฯ เนื่องจากปล่อยให้ดีเอสไอกับนายศุภชัยดำเนินการขายที่ดินโดยตรง ไม่ผ่านคณะกรรมการขายทอดตลอด ไม่ประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้เกิดการประมูลแข่งขันราคา
โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนายณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) จำนวน 60 ล้านบาท โดยนายณฐพร ระบุว่า มีกลุ่มนายหน้าเข้ามาติดต่อกับบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายของตัวเอง เมือขายที่ดินได้ จึงโอนเงินให้กับกลุ่มนายหน้า 40 ล้านบาท เอาเข้าบัญชีตัวเอง 15 ล้านบาท และให้ผู้ร่วมงาน 5 ล้านบาท
ขณะที่นายณฐพร ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่ากลุ่มนายหน้าที่เข้ามาติดต่อเป็นใครบ้าง ?
(อ่านประกอบ : พูดอย่างลูกผู้ชาย! ‘กุนซือ’ปธ.ผู้ตรวจฯเคลียร์ปมค่านายหน้าที่ดิน‘ศุภชัย’)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบสัญญานายหน้าค้าที่ดิน ทำสัญญาขึ้นที่ 315/3 ซอยนนทบุรี 35 ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี (ที่ตั้งบริษัท อินเตอร์อลายแอนซ์กฎหมายธุรกิจ จำกัด มีนายณฐพรเป็นเจ้าของบริษัท) ลงวันที่ 7 ม.ค. 2557
โดยในสัญญาดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า บริษัท อินเตอร์อลายฯ เป็นนายหน้า
สำหรับเนื้อหาสำคัญในสัญญาดังกล่าวคือ ผู้ให้สัญญาเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก จำนวน 36 แปลง โดยผู้ให้สัญญา (นายศุภชัย) มีความประสงค์จะทำการขายทรัพย์สินดังกล่าว
โดยผู้ให้สัญญาตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการติดต่อขายทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อให้ผู้ให้สัญญาได้เข้าทำสัญญากับผู้ซื้อทรัพย์สินจนเสร็จการ และนายหน้าตกลงรับทำการเป็นนายหน้าในการขายทรัพย์สินดังกล่าว
นอกจากนี้ในกรณีผู้ให้สัญญาสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องหรือได้จัดการให้ได้ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท
ในกรณีที่นายหน้าสามารถชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ให้สัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ (300 ล้านบาท) ผู้ให้สัญญาตกลงให้จำนวนเงินส่วนที่เกินเป็นของนายหน้า แต่กรณีนี้นายหน้าจะต้องมีภาระหน้าที่ในการเสียค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าฤชาธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าภาษีเงินได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทางราชการเรียกเก็บในส่วนของจำนวนที่เกินด้วยตนเองทั้งสิ้น
กรณีที่นายหน้าไม่สามารถทำการชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้ซื้อมาทำการซื้อขายทรัพย์สินกับผู้ให้สัญญาได้ ผู้ให้สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยทันที ทั้งนี้สัญญาฉบับนี้ให้มีผลบังคับถึงวันที่ 31 ม.ค. 2557 (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ในสัญญานายหน้าค้าที่ดินดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า
หนึ่ง ในสัญญาดังกล่าวมีการระบุว่า กรณีผู้ให้สัญญาสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องหรือได้จัดการให้ได้ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท
ตรงนี้บริษัท อินเตอร์อลายฯ ใช้วิธีการคำนวณค่านายหน้าอย่างไร จึงได้รับเงินถึง 60 ล้านบาท หรือว่าจะทราบมาก่อนอยู่แล้วว่าจะมีการขายที่ดินดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการประสานเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่มีตัวแทนดีเอสไอ ตัวแทน ปปง. นายศุภชัย แถลงต่อที่ประชุมว่า สามารถหาคนมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้แล้ว และนำสัญญาจะซื้อจะขายมาโชว์กลางวงประชุมด้วย
สอง นายศุภชัย แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานฯ ไว้แล้วว่า ติดต่อผู้มาซื้อที่ดินได้อยู่แล้ว พร้อมกับมีสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว นั่นหมายความว่า นายศุภชัยได้ติดต่อกับผู้ซื้อที่ดินด้วยตัวเองไว้อยู่ก่อนแล้ว ทำไมถึงมีการให้นายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ได้
ขณะที่นายหน้าที่เข้ามาติดต่อกรณีดังกล่าว รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ นายณฐพร และนายศุภชัยหรือไม่ ทำไมถึงจำไม่ได้ว่ากลุ่มนายหน้าจากไหนเป็นผู้เข้ามาติดต่อผ่านบริษัทฯเพื่อจะซื้อที่ดิน เพราะนายณฐพรให้สัมภาษณ์เองว่า เป็นผู้เซ็นเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ดังนั้นจำไม่ได้จริง ๆ หรือไม่อยากบอกกันแน่
สาม ในสัญญาดังกล่าว มีการลงนามไว้อยู่แค่ 4 คน โดยนายศุภชัย ลงนามในส่วนผู้ให้สัญญา นายณฐพร ลงนามในส่วนนายหน้า และมีพยานลงนามคนหนึ่ง ยังขาดพยานอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ลงชื่อ (ดูเอกสารประกอบด้านบน)
สี่ ค่านายหน้าจำนวน 60 ล้านบาท แพงเกินไปหรือไม่ เพราะปกติในวงการขายที่ดินนั้น จะได้ค่านายหน้าไม่เกิน 3% แต่กรณีนี้ได้ค่านายหน้าถึง 60 ล้านบาท หรือประมาณ 10% จากวงเงินทั้งหมด 477 ล้านบาท
ห้า ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พบว่า มีการเซ็นสัญญากันเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 โดยระบุมูลค่าของที่ดินไปแล้วคือกว่า 477 ล้านบาท แต่ในสัญญานายหน้าที่ดินฉบับนี้ ทำเมื่อ ม.ค. 2557 หรือช้ากว่าประมาณ 1 เดือน แต่กลับประมาณการที่ดินคือไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ทำไมถึงไม่ระบุมูลค่าตามสัญญาจะซื้อจะขาย
หรืออาจเป็นไปได้ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีการทำขึ้นทีหลังจากปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ อย่างไร ?
หก ในการโอนค่านายหน้าจำนวน 60 ล้านบาท นายณฐพร ระบุว่า มีการโอนเงินให้กับกลุ่มนายหน้าที่มาติดต่อจำนวน 40 ล้านบาท และผู้ร่วมงาน 5 ล้านบาท ส่วนตัวเองได้ 15 ล้านบาท ทำไมในส่วนนี้ถึงไม่ระบุรายชื่อคนที่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้ชัดเจน แต่กลับมาแบ่งเงินกันทีหลัง
หรืออาจมีการนำเงินส่วนนี้ไปกระจายแบ่งให้กลุ่มบุคคลหรือผู้บริหารระดับสูงที่อาจอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่ ?
นอกจากนี้นายณฐพร ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กลุ่มนายหน้าติดต่อในนามบริษัท แต่เมื่อมีการโอนเงินกลับโอนเข้าบัญชีส่วนตัวนายณฐพร การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีหรือไม่ และนายณฐพร ได้แจ้งแสดงในแบบแสดงภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 91) หรือไม่
ทั้งหมดคือเงื่อนปมที่น่าสงสัยในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ปปง. ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ดีเอสไอได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมากกว่าปีเศษแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ?
เเหล่งอ้างอิง:สำนักข่าวอิศรา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น