วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559



มาดามญู แห่งเวียดนามใต้ สตรีผู้จารึกบทเรียน ที่โลกไม่ควรลืม


http://www.matichon.co.th/online/2015/06/14344302471434430309l.jpg
มาดามญู (Photograph: John Loengard/Time & Life Pictures)

ในสมัยที่เวียดนามยังแบ่งเป็น "เวียดนามเหนือ" กับ "เวียดนามใต้" ครั้งนั้นตระกูลโง ดินห์ เป็นตระกูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเวียดนามใต้ และบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามอย่างสิ้นเชิง ก็คือ มาดามโง ดินห์ ญู ผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังบัลลังก์ โง ดินห์ เสี่ยม ประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามใต้ (ค.ศ.1955-1963)

มาดามโง ดินห์ ญู หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า มาดามญู เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากคำล่ำลือในความโหดร้าย ทว่ามีบางส่วนที่ชื่นชมเธอ ระหว่างปี ค.ศ.1955-1963 ถือเป็นช่วงที่ตระกูลโงและมาดามญูขับเคลื่อนเวียดนามใต้

เหตุใด? สตรีเวียดนามผู้นี้จึงครองอำนาจในช่วงที่สถานการณ์ของสงครามเย็นคุกรุ่น

จากทายาทชนชั้นสูง สู่ ′สตรีหมายเลขหนึ่ง′


 มาดามโง ดินห์ ญู หรือมาดามญู มีชื่อจริงว่า เจิ่น เหล่ะ ซวน (Tran Le Xuan) เป็นภรรยาของ "โง ดินห์ ญู" น้องชายแท้ๆ ของประธานาธิบดีโง ดินห์ เสี่ยม 

เธอและสามีเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโง ดินห์ เสี่ยม เวทีการเมืองโลกรู้จักเธอในฐานะ "สตรีหมายเลขหนึ่ง" แห่งเวียดนามใต้ 

มาดามญูเกิดในตระกูลชนชั้นสูงในฮานอย พ่อกับแม่ใกล้ชิดกับกษัตริย์หลายพระองค์ โดยพ่อของเธอเป็นทูตสาธารณรัฐเวียดนามประจำสหรัฐอเมริกา หลังจากพบกับโง ดินห์ ญู และแต่งงานกัน เธอก็เปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามสามี

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตั้งข้อสังเกตถึงภูมิหลังของมาดามญู ว่า

"เธอเป็นคนหัวสมัยใหม่ ทันสมัย หัวก้าวหน้า เป็นลูกหลานชนชั้นนำที่เป็นสตรีจำนวนไม่มากที่ได้รับการศึกษาในขณะนั้น ขณะที่ครอบครัวมีลักษณะเป็นแนวอนุรักษนิยมมากๆ เนื่องจากมีเชื้อสายของกษัตริย์ราชวงศ์

เหงวียนอยู่ น่าสนใจที่เธอเองไม่ค่อยจะลงรอยกับครอบครัวตัวเองนัก หนังสือชีวประวัติของเธอก็ยังเล่าด้วยว่าเธอตกลงแต่งงานกับโง ดินห์ ญู เพราะต้องการออกจากครอบครัวตัวเองด้วย" 

เจิ่น เหล่ะ ซวน ศึกษาจากโรงเรียน Lycee Albert Sarraut ในกรุงฮานอย โรงเรียนนี้ก่อตั้งในสมัยที่เวียดนามยังอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เพื่อวางระบบการศึกษาในเวียดนามโดยเชื่อว่าการศึกษาในระบบจะสร้างผู้นำที่ให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศสได้ โดยชื่อของโรงเรียนนี้มาจากชื่อของ Albert Sarraut ข้าหลวงชาวฝรั่งเศสนั่นเอง เหตุนี้ทำให้มาดามญูเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสมากกว่า สามารถอ่านและเขียนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนามได้ เพียงพูดได้เล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ เธอยังปฏิเสธแนวคิดจารีต แต่มุ่งสู่ความทันสมัยมากกว่า





(ซ้าย) ประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม กับทูตสหรัฐอเมริกา เฮนรี่ ลอดจ์ มิตรแท้ซึ่งภายหลังกลายเป็นศัตรูที่เกลียดชัง ภาพจาก http://www.allposters.com
(บน) มาดามญู กับสามี ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม ภาพจาก www.flickriver.com
(ล่าง) ประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม ถูกสังหารโดยคณะปฏิวัติ อันเป็นจุดจบของรัฐบาลครอบครัวโง ดินห์ ภาพจาก http://jonathanwar.wordpress.com


สตรีผู้โหดเหี้ยม หรือ แพะรับบาป?



ผลงานโบดำชิ้นเอกของเธอคือ การออกนโยบายปราบปรามพุทธศาสนาในเวียดนามใต้อย่างรุนแรง มาดามญูได้รับมอบหมายให้ควบคุมกองกำลังพิเศษ ควบคุมการทำงานของ พ.อ.เล กวางตึง ผู้ออกคำสั่งทำลายวัดพุทธและชาวพุทธ นำมาสู่การเผาร่างกายของภิกษุหลายรูปเพื่อประท้วงรัฐบาล

แม้เหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย แต่เธอยังคงแสดงท่าทีนิ่งเฉยและไม่ใส่ใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จุดแตกหักมาจากคำให้สัมภาษณ์ของเธอว่า "I would clap hands at seeing another monk barbecue show" หรือ "ฉันจะปรบมือให้เมื่อได้ดูโชว์บาร์บีคิวพระ" 

คะแนนนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีโง ดินห์ เสี่ยม ลดลงเรื่อยๆ จนนำมาสู่การคัดค้านขององค์การสหประชาชนในการปกครองของรัฐบาลนี้ รวมถึงขอเข้าตรวจสอบสถานการณ์ในเวียดนามใต้ขณะนั้น และงดการสนับสนุนกองกำลังทหารจากสหรัฐที่มีให้กับรัฐบาลโง ดินห์ เสี่ยม ด้วย

มรกตวงศ์ แสดงความเห็นว่า รัฐบาลโง ดินห์ เสี่ยม บริหารประเทศในช่วงแรกเขาคือความหวัง เป็นบุคคลที่จะเอาไว้ต่อสู้กับรัฐบาลเวียดนามเหนือ ในสมัยแรกของเสี่ยม ดูท่าเวียดนามใต้จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ทว่า สถานการณ์กลับไม่เป็นดังคาดเมื่อต่อมาเวียดนามใต้ประสบกับปัญหาการบริหารประเทศมากมาย สถานการณ์ที่วิกฤตอยู่แล้วกลับเพิ่มขึ้นทวีคูณเมื่อมีคำกล่าวของ
มาดามญู ออกมา ประธานาธิบดีสหรัฐช่วงนั้นมองว่าเธอคือหายนะของเวียดนามใต้ ถ้ามองในแง่ของเพศวิถีแล้วสิ่งที่เธอพูดผนวกกับการที่เธอเป็นผู้หญิง จึงเหมาะจะเป็นกระโถนท้องพระโรงที่จะถูกยัดเยียดความล้มเหลว ความบาป ความปราชัยทั้งหมดเอาไว้ ทั้งๆ ที่คนอย่างสามีของเธอก็เป็นผู้ทรงอำนาจอย่างมากและก็เป็นส่วนหลักของการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเสี่ยม เช่นกัน แต่มักไม่ถูกรุมประณามเท่ากับ ตัวมาดาม ญู

นอกจากนี้ ผู้สนใจประวัติศาสตร์เวียดนามอย่างนาย Nguyen Bao Khanh จากมหาวิทยาลัยฮานอย ซึ่งศึกษาประวัติของมาดาม ญู และเวียดนามใต้ช่วงนั้น บอกว่า ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่น่าจะรู้จักเธอแล้ว แต่สิ่งที่เธอทำก็น่ารังเกียจอยู่ คือ การด่า ดูหมิ่นศาสนา แม้ตนจะไม่มีศาสนา แต่เมื่อได้ศึกษาประวัติของมาดามญูแล้วก็รับไม่ได้

แม้แต่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนา ก็ไม่เห็นดีเห็นงามกับมาดาม ญู

พระทิจ กว๋าง ดึ๊ก เผาตัวเองเพื่อประท้วงการบริหารงานของรัฐบาลครอบครัวโง ดินห์ ภาพจาก http://thuvienhoasen.org

บทเรียนจาก ′มาดาม ญู′ ที่โลกไม่ควรลืม

ความผิดพลาดของรัฐบาลโง ดินห์ เสี่ยม ไม่ใช่เพียงการดำเนินนโยบายต่อต้านศาสนาพุทธ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่นำไปสู่การหมดอำนาจ ได้แก่ การสร้างรัฐบาลชุดครอบครัวขึ้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองล้วนเป็นญาติสนิท มิตรสหายของโง ดินห์ เสี่ยม ทั้งสิ้น และการเลือกข้างอยู่กับสหรัฐของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้กลุ่มแนวร่วมปลดแอกที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมุ่งต่อต้านอำนาจจากภายนอก ยิ่งต่อต้านเสี่ยม มากขึ้น แต่ในภายหลังเมื่ออเมริกาเลิกสนับสนุนรัฐบาลโง ดินห์ เสี่ยม กาลอวสานจึงได้บังเกิดขึ้นกับครอบครัวโง ดินห์ 

แน่นอนว่าการเสื่อมอำนาจของรัฐบาลเสี่ยม เป็นเรื่องเดียวกับการหมดอำนาจของมาดามญู และสามีของเธอ 

จุดสิ้นสุดอำนาจของตระกูลโง ดินห์ คือ การรัฐประหารของกลุ่มกองกำลังภายใต้การนำของเซือง วัน มิงห์ เมื่อ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 หนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์พระสงฆ์เผาตัวเพื่อประท้วงรัฐบาล คณะรัฐประหารให้เหตุผลว่าไม่อาจทนดูการปกครองของรัฐบาลโง ดินห์ เสี่ยม ได้อีกต่อไป เพราะใช้ความรุนแรงกับประชาชน และเอื้อประโยชน์กับครอบครัวตัวเอง ภายหลังการรัฐประหารทั้งโง ดินห์ เสี่ยม และโง ดินห์ ญู ได้ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนมาดามญูนั้นได้หลบหนีออกนอกประเทศ และได้ตั้งรกรากที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาจารย์จากรั้วแม่โดมทิ้งท้ายถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ว่า ประวัติศาสตร์ก็มีหลายด้าน บางครั้งก็ไม่สามารถตัดสินให้เป็นขาวกับดำ มาดาม ญู มักถูกตราหน้าว่าเป็นเหตุที่ทำให้เวียดนามใต้พ่ายแพ้ ไม่ปฏิเสธว่านั่นคือท่าทีของเธอเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในเวียดนามใต้ลดลง เกิดความวุ่นวายในสังคม ทว่า ความพ่ายแพ้ของเวียดนามใต้ก็มีปัจจัยอื่นอีกมากมายด้วยเช่นกัน

"ภาพจำของมาดามญูในประวัติศาสตร์เวียดนามคือผู้หญิง ′สวยเหี้ยม′ คำพูดของเธอเพียงไม่กี่ประโยคถือเป็นการดับอนาคตทั้งชีวิตของเธอ ไม่ใช่แค่เฉพาะในเวียดนาม แต่รวมถึงประชาชนทั้งโลกด้วย แม้ว่าเธอก็สร้างคุณูปการให้สังคมเวียดนามด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันสิทธิสตรี การรณรงค์เรื่องการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในสังคมเวียดนามซึ่งถือว่าเป็นเรื่องหัวก้าวหน้ามากในสังคมเวียดนามขณะนั้นและเธอเองก็ต้องรับแรงเสียดทานต่อการเรียกร้องครั้งนี้จากสังคมด้วยโดยเฉพาะบรรยากาศทางสังคมที่ชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื้อ"มรกตวงศ์กล่าว

นอกจากนี้แล้ว นาย Nguyen Bao Khanh ได้พูดถึงการรับรู้ของชาวเวียดนามเกี่ยวกับมาดาม ญูว่า ใครที่อยากรู้จักเธอก็สามารถหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ส่วนหนังสือคงมีน้อยมาก ขณะที่รัฐบาลเวียดนามไม่สนับสนุนให้ศึกษาบทบาทของมาดาม ญู ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏชื่อมาดามญู และไม่มีท่าทีจะจัดการกับประวัติศาสตร์ของมาดามญูด้วย

มาดาม ญู เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 87 ปีที่โรงพยาบาลในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ.2011 เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ให้เราได้ศึกษา ด้านหนึ่ง เธอคือตัวร้าย แต่อีกด้านหนึ่งคือการนำความทันสมัยเข้ามาในเวียดนามใต้

แต่แน่นอนว่าความเลวร้ายที่มาดาม ญู ทำไว้ เป็นบทเรียนที่โลกไม่ควรลืม


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1434430247
โดย สุวิจักขณ์ เตชะทัตสกุล

1 ความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Unordered List

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

โพสต์แนะนำ

ภูติ ผี ปีศาจ เเตกต่างกันอย่างไร

                ภูติ ผี ปีศาจ เป็นคำที่เราเคยได้ยินได้ฟัง มาตั้งเเต่ยังเด็ก เเม้กระทั่งละคร ภาพยนต์ต่างๆก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้...

Popular Posts

Text Widget