วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ขมวดปมพิรุธค่านายหน้าขายที่ดิน ‘ศุภชัย’ ก่อน ‘ณฐพร’ ที่ปรึกษา ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นหนังสือลาออก พบทำที่ บ.อินเตอร์อลายฯ คำนวณชัดถ้าขายที่ดินได้เกิน 300 ล้าน ได้ค่านายหน้า 60 ล้าน ทำไมทำทีหลังสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน

มีพิรุธหลายประการในการขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 1,822 ไร่ ให้กับบริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด วงเงินกว่า 477 ล้านบาท ที่คณะกรรมการประสานเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่มีตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการที่อาจขัดต่อระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการขายทรัพย์สินทอดตลาดฯ เนื่องจากปล่อยให้ดีเอสไอกับนายศุภชัยดำเนินการขายที่ดินโดยตรง ไม่ผ่านคณะกรรมการขายทอดตลอด ไม่ประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้เกิดการประมูลแข่งขันราคา

โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนายณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) จำนวน 60 ล้านบาท โดยนายณฐพร ระบุว่า มีกลุ่มนายหน้าเข้ามาติดต่อกับบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายของตัวเอง เมือขายที่ดินได้ จึงโอนเงินให้กับกลุ่มนายหน้า 40 ล้านบาท เอาเข้าบัญชีตัวเอง 15 ล้านบาท และให้ผู้ร่วมงาน 5 ล้านบาท

ขณะที่นายณฐพร ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่ากลุ่มนายหน้าที่เข้ามาติดต่อเป็นใครบ้าง ?

(อ่านประกอบ : พูดอย่างลูกผู้ชาย! ‘กุนซือ’ปธ.ผู้ตรวจฯเคลียร์ปมค่านายหน้าที่ดิน‘ศุภชัย’)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบสัญญานายหน้าค้าที่ดิน ทำสัญญาขึ้นที่ 315/3 ซอยนนทบุรี 35 ถนนสนามบินน้ำ ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี (ที่ตั้งบริษัท อินเตอร์อลายแอนซ์กฎหมายธุรกิจ จำกัด มีนายณฐพรเป็นเจ้าของบริษัท) ลงวันที่ 7 ม.ค. 2557

โดยในสัญญาดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า บริษัท อินเตอร์อลายฯ เป็นนายหน้า

สำหรับเนื้อหาสำคัญในสัญญาดังกล่าวคือ ผู้ให้สัญญาเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก จำนวน 36 แปลง โดยผู้ให้สัญญา (นายศุภชัย) มีความประสงค์จะทำการขายทรัพย์สินดังกล่าว

โดยผู้ให้สัญญาตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ดำเนินการติดต่อขายทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อให้ผู้ให้สัญญาได้เข้าทำสัญญากับผู้ซื้อทรัพย์สินจนเสร็จการ และนายหน้าตกลงรับทำการเป็นนายหน้าในการขายทรัพย์สินดังกล่าว

นอกจากนี้ในกรณีผู้ให้สัญญาสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องหรือได้จัดการให้ได้ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท
ในกรณีที่นายหน้าสามารถชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ให้สัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ (300 ล้านบาท) ผู้ให้สัญญาตกลงให้จำนวนเงินส่วนที่เกินเป็นของนายหน้า แต่กรณีนี้นายหน้าจะต้องมีภาระหน้าที่ในการเสียค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าฤชาธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าภาษีเงินได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทางราชการเรียกเก็บในส่วนของจำนวนที่เกินด้วยตนเองทั้งสิ้น

กรณีที่นายหน้าไม่สามารถทำการชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้ซื้อมาทำการซื้อขายทรัพย์สินกับผู้ให้สัญญาได้ ผู้ให้สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยทันที ทั้งนี้สัญญาฉบับนี้ให้มีผลบังคับถึงวันที่ 31 ม.ค. 2557 (ดูเอกสารประกอบ)



ทั้งนี้ในสัญญานายหน้าค้าที่ดินดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า

หนึ่ง ในสัญญาดังกล่าวมีการระบุว่า กรณีผู้ให้สัญญาสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจากผลแห่งการที่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องหรือได้จัดการให้ได้ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท

ตรงนี้บริษัท อินเตอร์อลายฯ ใช้วิธีการคำนวณค่านายหน้าอย่างไร จึงได้รับเงินถึง 60 ล้านบาท หรือว่าจะทราบมาก่อนอยู่แล้วว่าจะมีการขายที่ดินดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการประสานเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่มีตัวแทนดีเอสไอ ตัวแทน ปปง. นายศุภชัย แถลงต่อที่ประชุมว่า สามารถหาคนมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้แล้ว และนำสัญญาจะซื้อจะขายมาโชว์กลางวงประชุมด้วย

สอง นายศุภชัย แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานฯ ไว้แล้วว่า ติดต่อผู้มาซื้อที่ดินได้อยู่แล้ว พร้อมกับมีสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว นั่นหมายความว่า นายศุภชัยได้ติดต่อกับผู้ซื้อที่ดินด้วยตัวเองไว้อยู่ก่อนแล้ว ทำไมถึงมีการให้นายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ได้

ขณะที่นายหน้าที่เข้ามาติดต่อกรณีดังกล่าว รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ นายณฐพร และนายศุภชัยหรือไม่  ทำไมถึงจำไม่ได้ว่ากลุ่มนายหน้าจากไหนเป็นผู้เข้ามาติดต่อผ่านบริษัทฯเพื่อจะซื้อที่ดิน เพราะนายณฐพรให้สัมภาษณ์เองว่า เป็นผู้เซ็นเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ดังนั้นจำไม่ได้จริง ๆ หรือไม่อยากบอกกันแน่

สาม ในสัญญาดังกล่าว มีการลงนามไว้อยู่แค่ 4 คน โดยนายศุภชัย ลงนามในส่วนผู้ให้สัญญา นายณฐพร ลงนามในส่วนนายหน้า และมีพยานลงนามคนหนึ่ง ยังขาดพยานอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ลงชื่อ (ดูเอกสารประกอบด้านบน)
สี่ ค่านายหน้าจำนวน 60 ล้านบาท แพงเกินไปหรือไม่ เพราะปกติในวงการขายที่ดินนั้น จะได้ค่านายหน้าไม่เกิน 3% แต่กรณีนี้ได้ค่านายหน้าถึง 60 ล้านบาท หรือประมาณ 10% จากวงเงินทั้งหมด 477 ล้านบาท 
ห้า ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พบว่า มีการเซ็นสัญญากันเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 โดยระบุมูลค่าของที่ดินไปแล้วคือกว่า 477 ล้านบาท แต่ในสัญญานายหน้าที่ดินฉบับนี้ ทำเมื่อ ม.ค. 2557 หรือช้ากว่าประมาณ 1 เดือน แต่กลับประมาณการที่ดินคือไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ทำไมถึงไม่ระบุมูลค่าตามสัญญาจะซื้อจะขาย
หรืออาจเป็นไปได้ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีการทำขึ้นทีหลังจากปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ อย่างไร ?
ในการโอนค่านายหน้าจำนวน 60 ล้านบาท นายณฐพร ระบุว่า มีการโอนเงินให้กับกลุ่มนายหน้าที่มาติดต่อจำนวน 40 ล้านบาท และผู้ร่วมงาน 5 ล้านบาท ส่วนตัวเองได้ 15 ล้านบาท ทำไมในส่วนนี้ถึงไม่ระบุรายชื่อคนที่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้ชัดเจน แต่กลับมาแบ่งเงินกันทีหลัง

หรืออาจมีการนำเงินส่วนนี้ไปกระจายแบ่งให้กลุ่มบุคคลหรือผู้บริหารระดับสูงที่อาจอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่ ?
นอกจากนี้นายณฐพร ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กลุ่มนายหน้าติดต่อในนามบริษัท แต่เมื่อมีการโอนเงินกลับโอนเข้าบัญชีส่วนตัวนายณฐพร การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีหรือไม่ และนายณฐพร ได้แจ้งแสดงในแบบแสดงภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 91) หรือไม่
ทั้งหมดคือเงื่อนปมที่น่าสงสัยในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ปปง. ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ดีเอสไอได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมากกว่าปีเศษแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ?

เเหล่งอ้างอิง:สำนักข่าวอิศรา






0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Unordered List

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

โพสต์แนะนำ

ภูติ ผี ปีศาจ เเตกต่างกันอย่างไร

                ภูติ ผี ปีศาจ เป็นคำที่เราเคยได้ยินได้ฟัง มาตั้งเเต่ยังเด็ก เเม้กระทั่งละคร ภาพยนต์ต่างๆก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้...

Popular Posts

Text Widget